นภันต์ เสวิกุล ผู้บันทึกย่างพระบาทที่ยาตรา เล่าจากหัวใจช่างภาพผู้ถวายงานการบันทึกภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ที่ได้สัมผัสตลอดระยะเวลาของการทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ..
"ผมเป็นคนทำโปรดักชั่น สมัยใหม่ก็ต้องบอกว่าเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ และออร์กาไนเซอร์ เจ้าแรกของเมืองไทย ผมก็เป็นคนที่ทำสไลด์มัลติวิชั่นคนแรกที่เข้าไปสู่วงการโฆษณา ก็ทำให้ได้ไปทำงานให้กับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติอยู่หลายปี จนกระทั่งในที่สุดตัวเองก็ได้เป็นคณะอนุกรรมการภาพนิ่งและภาพยนตร์ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ร่วมกับผู้ใหญ่หลายคนที่ผมเคารพนับถือ ..
"นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ "นภันต์" ช่างภาพหนุ่มในเวลานั้นได้มีโอกาสติดตามขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร ..
" ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กรรมการก็มอบหมายให้ผมเป็นคนที่ทำงานเก็บข้อมูลเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ปีแรกทำเรื่องรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๙ ซึ่งในส่วนของรัชกาลที่ ๙ ทำให้ผมต้องตามเสด็จฯ แล้วก็ตามอยู่หลายปี ประมาณ ๖ - ๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นมา โดยช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๕ เป็นช่วงเวลาที่ตามเสด็จฯเยอะ เพราะว่าเตรียมข้อมูลสำหรับงานฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ..
" ปีแรกนี่เหนื่อยเลย เพราะว่าเราอยู่ประมาณรถคันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมื่อพระองค์ท่านจอด คือระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าพระองค์ท่านต้องพระประสงค์ พระองค์ท่านจะจอดก็จอดเพราะพระองค์ทรงขับรถเอง จอดปุ๊บเราก็วิ่งลงไป กว่าจะถึงเนี่ยบางทีพระองค์คุยจบแล้ว แล้วเราจะยืนคอยรถอยู่ก็ไม่ได้ ต้องวิ่งสุดชีวิตกลับมา ช่วงแรกมีผมคนเดียว ช่วงปีที่สองที่สามต่อมา คุณหญิงคณิตา เลขะกุล บ.ก.อนุสาร อสท.ในเวลานั้นตามไปด้วย เพราะท่านก็เป็นอนุกรรมการด้วย อีกคนที่มาหลังผมหน่อยก็คือคุณดวงดาว สุวรรณรังษี ที่เป็น บ.ก. อนุสาร อสท. รุ่นหลังๆ นั่นก็วิ่งกับผมมาเหมือนกัน ..
" ทุกเส้นทางที่พระองค์เสด็จฯไปทรงงาน เรื่องความยากลำบากไม่ต้องพูดถึง บางพื้นที่ต้องเดินเท้านานนับชั่วโมง เอาง่ายๆอย่างไปแม่แจ่ม สมัยโน้นไม่ใช่ขึ้นไปอินทนนท์แล้วลงมามีถนนลาดยางลงถึง ไม่ใช่! ต้องไปอ้อมฮอดแล้ววกเข้ามาข้างใน ถนนไม่มี ทางลูกรังอย่างเดียว ก็แปลว่าจะไปแม่แจ่มนี่ ๑๐ ชั่วโมงไม่ถึง ขับรถไม่ถึง ไม่ใช่ไม่ถึง ๑๐ ชั่วโมงนะ ๑๐ ชั่วโมงไม่ถึง ออกตี ๓ บ้าง ตี ๒ บ้าง ..
" แต่เราว่าลำบากแล้วพระองค์ท่านลำบากกว่าเราอีก เพราะว่าบางทีเราได้รูปแล้วเราก็หยุด แต่พระองค์ท่านยังไม่ได้น้ำ หมายความว่า พระองค์ทรงไปหาน้ำให้ชาวเขา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเขาไป ๓ ลูก ๔ ลูก บางทีเราก็ไม่ตาม ..
" เมื่อมองย้อนกลับไป นภันต์ยอมรับว่า แม้ตัวเองจะเหนื่อย "แต่พระองค์ท่านเหนื่อยกว่าแน่ๆ แต่ไม่แสดงออก "
" อย่างที่เสด็จฯปลวกแดงเนี่ย วันนั้นทหารเป็นเจ้าภาพ เขาก็ไปปรับที่ เพราะราษฎรทั้งระยอง ทั้งปราจีนฯ มากันเต็ม ซุ้มรับเสด็จฯ นี่ยาวเป็นกิโล เขาก็เอาหินฝุ่นหยาบมาโรย สวยนะครับ แต่ร้อนนะฮะ ร้อนแบบสาหัสเลย แล้วมันก็คมด้วย เราเดินไปแป๊บเดียวก็จะเป็นลมแล้ว พระองค์ท่านประทับอยู่ถึง ๔ ทุ่มกว่า ..
" พ้นจากอุปสรรคเรื่องการเดินทาง ภารกิจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการบันทึกภาพพระราชจริยวัตรให้สมพระเกียรติ สมัยนั้นสำนักพระราชวังค่อนข้างเข้มงวดในการถ่ายภาพพระราชอิริยาบถของเจ้านายทุกพระองค์ เช่น ก้าวเดินไม่ได้ ต้องให้พระองค์หยุดแล้วถึงถ่ายรูป ทำให้บางทีเราในฐานะคนทำสารคดีก็จะถูกเอ็ดประจำว่ารูปที่นำมาเผยแพร่เนี่ยพระองค์ไม่สวยในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ผมคิดว่าการที่พระองค์ทรงมีพระเสโทเต็มพระพักตร์ ต่างๆนานา สามารถถ่ายทอดสื่อความหมายได้ รุ่นผมก็จะกลายเป็นรุ่นหัวแข็ง ผู้ใหญ่ก็อาจจะโกรธ แต่ว่าเราก็ทำงานของเรา ..
" สำหรับการถ่ายภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความง่ายอยู่ตรง ‘พระองค์ประทับนิ่งและนาน’ ส่วนความยาก คือเรื่องสภาพแวดล้อม ..
" เรื่องที่พระองค์ท่านทรงคุยกับราษฎรก็จะเป็นเรื่องเดิมๆ ทรงรับสั่งถามว่า ‘พอมีพอกินไหม อะไรคืออุปสรรคปัญหา น้ำมีไหม น้ำอยู่ที่ไหน ปีนี้ได้ข้าวเท่าไหร่’ ต่างๆนานา พระราชอิริยาบถของพระองค์นิ่งๆ เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพก็ง่าย แต่เราอยู่ในตำแหน่งที่ถ่ายยาก เพราะว่าจะมีองครักษ์ เจ้าหน้าที่กองราชเลขาธิการ ถ้าเป็นปักษ์ใต้ก็จะมีล่าม ซึ่งจะบัง เราก็ต้องหลบ หลบเหลี่ยมให้พ้นแล้วก็ไม่ทำอะไรที่เป็นที่ผิดสังเกต เช่น ไม่ยุกยิก ต้องรู้ว่าถ่ายรูปแล้วต้องรีบลดกล้อง หลีกเลี่ยงการใช้แฟลช อันนี้เราก็จะรู้หน้าที่อยู่ ..
" เมื่อถามถึงเบื้องหลังภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ประทับยืนถือแผนที่โดยมีฉากหลังเป็นภูเขา ซึ่งมีการแชร์กันเป็นจำนวนมาก นภันต์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ..
" รูปนั้น เป็นวันเสด็จฯบ้านแกน้อย ที่จริงอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เลย ขับรถชั่วโมงกว่าๆก็ถึงแล้ว แต่วันนั้นเราขับรถไป ๔ - ๕ ชั่วโมงกว่าจะถึง พระองค์เสด็จฯมากับเฮลิคอปเตอร์ เราไปยืนรอก่อน โอ้โห ตัวละลาย เพราะว่าข้างหน้าคือฝุ่นแดงอันมหาศาล ทั้งภูเขาไม่มีต้นไม้เลย มีแต่ความแห้งแล้ง ตรงที่พระองค์เสด็จฯเป็นบ้านมูเซอแดง แล้วก็เป็นโรงเรียน ผมยืนอยู่ห่างสักประมาณ ๑๐ เมตร ถ่ายรูปพระองค์เสร็จก็ยืนคอยอยู่เฉยๆ ..
" ระหว่างที่พระองค์ท่านประทับกับราษฎร ปรากฏว่ามีลมหมุน ฟรืด .. ดินแดงก็วนขึ้นมาแล้วก็ไปคลุมพระองค์ท่าน จนกระทั่งแผนที่หลุดไปจากพระหัตถ์ข้างหนึ่ง พระองค์ก็ทรงตะปบ ก็เห็นว่าฝุ่นเข้าพระพักตร์ ทุกคนก็ตกใจ พอฝุ่นจางหน่อย ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงถอดฉลองพระเนตรออก แล้วทรงเช็ดพระเนตร แล้วทรงกางแผนที่ใหม่ ทรงงานต่อ เราร้องไห้เลย ร้องไห้เพราะว่าพระองค์ไม่ต้องมาอย่างนี้ก็ได้ ..
" หลังจากนั้นอีก ๓ ปีถัดมา ผมไปที่นั่นอีกครั้ง มันเป็นอะไรที่ช็อค เพราะว่าจากภูเขาหลายลูกที่เป็นทะเลทรายในวันนั้น วันนี้มันเขียวไปหมด บ้านแกน้อยก็เป็นโครงการหลวงที่ทำรายได้สูงมาก ต่อมาเมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว เนื่องจากผมจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางคณะสื่อสารมวลชนก็มาขอหนังสือผมเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘ย่างพระบาทที่ยาตรา’ เอาไปเป็นคอนเซ็ปในการทำงานถวายฯ ผมก็เลือกรูปหนึ่งที่ชอบมาก ก็คือรูปครั้งนี้ แล้วให้เขาไปออกแบบมาอีกที ก็ทำออกมาเป็นอย่างที่เห็น เดิมรูปที่ผมถ่ายข้างหลังเป็นภูเขาก่อนทรงงาน แต่รูปที่ทำออกมา ใช้ภาพภูเขาหลังทรงงานเป็นฉากหลังแทน ..
" หลังวันเสด็จสวรรคต เช้าวันที่ ๑๔ ตุลาคม ผมก็โพสต์รูปนี้ ซึ่งเป็นรูปที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ เขียน ๗ บรรทัด เล่าให้ฟังว่าตัวเองเห็นอะไรวันนั้น ก็ไม่คิดว่ามันจะถูกแพร่หลายไปมากมาย แสดงว่าคนสมัยนี้เขาก็อยากที่จะเข้าใจอะไรที่เกือบ ๑๐ บรรทัด ..
" ในวันที่ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคต ความโศกเศร้าเสียใจ คือคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองว่า จะทำงานเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจให้มากขึ้น รู้สึกเสียใจว่าเรามีเวลาตั้งมากมายที่น่าจะทำอย่างนี้ให้กับเด็กสมัยนี้ ผู้คนสมัยนี้ได้เข้าใจพระองค์ท่าน เพราะแม้กระทั่งลูกผมก็ไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัว นอกจากเห็นในโทรทัศน์ ผมก็สัญญากับตัวเองว่าจะทำมากขึ้น พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ ..
" มีหลายครั้งที่ผมไปถ่ายภาพพระองค์ท่านแล้วเห็นพระองค์ประทับราบอยู่กับพื้น หัวเข่าเปื้อนทรายเต็มไปหมด ผมเคยยกกล้องขึ้นถ่ายรูปเมื่อพระองค์ประทับบนบัลลังก์ในวันฉัตรมงคล พอเห็นภาพอย่างนี้เมื่อไหร่ผมก็น้ำตาไหล ..
" คือ ทำไมพระองค์ต้องมาทำอย่างนี้ ทรงงานทุกวัน ตี ๓ ตี ๔ พระองค์ก็ยังทรงงาน พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกวัน ๑๑ โมงเช้า กลับมาได้เสวยพระกระยาหารค่ำตอน ๔ ทุ่ม เป็นเราก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีทาง แต่พระองค์ทรงทำได้ด้วยความเต็มพระราชหฤทัย ..
“ โครงการของพระองค์ ๔,๐๐๐ กว่าโครงการ ทรงติดตามความคืบหน้าทุกโครงการด้วยพระองค์เอง แล้วโครงการเหล่านั้นก็ได้เดินทางไปสู่ความสำเร็จทุกโครงการด้วยพระองค์เอง ทรงคิดได้อย่างไร ทรงทำได้อย่างไร คนธรรมดาทำไม่ได้ ไม่มีวัน ..
" ในฐานะช่างภาพ บางครั้งก็สงสัยว่าพระองค์ท่านทรงถ่ายอะไร บางทีแอบ แอบเลยล่ะ แอบไปยืนข้างหลังว่าพระองค์ทรงถ่ายอะไร คือพระองค์ท่านทรงยกกล้องมาแต่ละครั้งทรงถ่ายของไม่ดีทั้งนั้น ดินแดงแห้งผาก รากไม้ ต้นไม้ล้ม พระองค์ทรงถ่ายภาพเหล่านี้ แต่อีก ๕ ปี ๑๐ ปี กลับไปดูสิ ตรงนั้นจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ พระองค์ท่านทรงถ่ายไปต้องคิดไปด้วยแน่ๆ ว่าจะเอาไปทำอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้มาจากรูปของพระองค์ ก็คือชีวิต ..
" ตั้งแต่เสด็จสววรคตก็ร้องไห้ใหญ่ๆสัก ๒ ครั้ง มันเหมือนน้ำตาตกในมั้ง ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาก็ยังถามตัวเองว่า จริงเหรอ แต่สุดท้ายก็คิดว่า พระองค์ท่านยังอยู่กับเรา ไม่เคยไปไหน พระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่รอบๆตัวเรา ในคอมพิวเตอร์ผมมีแต่รูปพระเจ้าอยู่หัว กล้องถ่ายรูปผมในฐานะช่างภาพ ผมไม่เคยถ่ายรูปคน ใครมาจ้างผมถ่ายรูปคนผมไม่รับงาน เพราะผมคิดว่ากล้องผมถ่ายรูปพระเจ้าอยู่หัว ถ่ายรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ ผมไม่อยากถ่ายรูปอื่นแล้ว ถึงไม่ทำงานก็ไม่อยากถ่ายรูปคนอื่นแล้ว ผมก็จะถ่ายใต้น้ำ ถ่ายภูเขา ไม่ถ่ายคน ..
" เราต้องมีพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในหัวใจ อยู่ในจิตวิญญาณของความเป็นคนไทย คนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่ต้องพระองค์ไหน ไม่ต้องอะไร ขอให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่กับคนไทย เราก็จะเป็นคนไทย ถ้าเราคิดว่าเรารักประเทศเรา "เราก็ต้องเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข" รักแล้วรักเลย รักแล้วไม่ต้องถาม ไม่ต้องสงสัย ผมไม่เคยสงสัยอะไรเลย .. ผมรัก
Source: http://headshot.tnews.co.th/contents/210200/
No comments:
Post a Comment